วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2559

รู้ทัน 3 ภาษีมรดก (ภาษีใหม่ที่จะมีการบังคับใช้ในปี 2559 นี้) + ภาค 3 + ภาษีการรับมรดก

หลักการจัดเก็บภาษี

            พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ.2558  มีการบังคับเก็บจากบุคคลผู้ได้รับมรดก เฉพาะตามประเภทที่กฎหมายกำหนด  ไม่ว่าจะเป็นสังหาริมทรัพย์ หรือ อสังหาริมทรัพย์  มรดกที่ต้องเสียภาษีได้แก่ทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้

         (1) อสังหาริมทรัพย์
         (2) หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
         (3) เงินฝากหรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะอย่างเดียวกันที่เจ้ามรดกมีสิทธิเรียกถอนคืน จาก สถาบันการเงินหรือบุคคลที่ได้รับเงินนั้นไว้
         (4) ยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน
         (5) ทรัพย์สินทางการเงินที่กำหนดเพิ่มขึ้น โดยพระราชกฤษฎีกา (ตามที่กฎหมายจะ ประกาศออกมาทีหลัง)
            
ข้อสังเกต ภาษีการรับมรดกนี้จัดเก็บจากผู้ที่ได้รับมรดกเมื่อเจ้าของทรัพย์สิน(เจ้ามรดก) ตาย  ต่างกับภาษีการให้เพราะ เจ้าของทรัพย์สินยังมีชีวิตอยู่

ผู้มีหน้าที่เสียภาษี (Tax Payer)

            คือบุคคลที่ได้รับมรดกได้แก่ บุคคลผู้มีสัญชาติไทยหรือ บุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยแต่ เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง หรือบุคคลไม่มีสัญชาติไทยแต่ ได้รับมรดกอันเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย
            ในกรณีที่ผู้ได้รับมรดกเป็นนิติบุคคล ให้ถือว่า นิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย หรือจัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายไทยหรือมีผู้มีสัญชาติไทยถือหุ้นเกินร้อยละห้าสิบของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วในขณะมีสิทธิได้รับมรดก หรือมีผู้มีสัญชาติไทยเป็นผู้มีอำนาจบริหารกิจการเกิน กึ่งหนึ่งของคณะบุคคลซึ่งมีอำนาจบริหารกิจการทั้งหมด เป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทย

การยกเว้นภาษีการรับมรดก

            มีบุคคลที่ได้รับยกเว้นภาษีการรับมรดก ดังนี้
(1) ผู้ที่ได้รับมรดกจากเจ้ามรดกที่ตายก่อนวันที่กฎหมายใช้บังคับ
(2)  คู่สมรสของเจ้ามรดก
(3)  บุคคลผู้ได้รับมรดกที่เจ้ามรดกแสดงเจตนาหรือเห็นได้ว่ามีความประสงค์ให้ใช้ 
      มรดกนั้นเพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา กิจการศึกษาหรือกิจการสาธารณ
      ประโยชน์
(4)  หน่วยงานของรัฐและนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา
      กิจการศึกษาหรือกิจการสาธารณประโยชน์
(5)  บุคคลหรือองค์การระหว่างประเทศตามข้อผูกพันที่ประเทศไทยมีอยู่ต่อองค์การสหประชาชาติหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศหรือตามสัญญาหรือตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกันกับนานาประเทศ

ฐานภาษี (Tax Base)

            กฎหมายกำหนดให้เสียภาษีจากมูลค่ามรดกที่ผู้รับมรดกได้รับจากเจ้ามรดกแต่ละราย ไม่ว่าจะได้รับมาในคราวเดียวหรือหลายคราว ถ้ามรดกที่ได้รับจากเจ้ามรดกแต่ละรายรวมกัน มีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท
           
            มูลค่าของมรดก หมายถึง มูลค่าของทรัพย์สินทั้งสิ้นที่ได้รับเป็นมรดก หักด้วยภาระ หนี้สิน (ถ้ามี) อันตกทอดมาจากการรับมรดกนั้น
           
            การคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินเพื่อการเสียภาษีกฎหมายให้ใช้ราคาหรือมูลค่าในวันที่ ได้รับมรดกโดยวางหลักเกณฑ์ไว้ ดังนี้ 

(1)   กรณีอสังหาริมทรัพย์
ให้ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ของอสังหาริมทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน หักด้วยภาระที่ถูกรอนสิทธิตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง

(2)   กรณีหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ให้ถือเอาราคาของหลักทรัพย์ในเวลาสิ้นสุดเวลาทำการของตลาดหลักทรัพย์ในวันได้รับมรดก

3)   กรณีอื่น ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง

อัตราภาษี (Tax Rate)
        
            ให้เสียภาษีในอัตราร้อยละ 10  ของมูลค่ามรดกในส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท (ส่วนที่ ไม่เกิน 100 ล้านบาทได้รับยกเว้นภาษี) และถ้าผู้ได้รับมรดกเป็นบุพการี หรือผู้สืบสันดาน อัตราภาษีจะลดลงเหลือร้อยละ 5 ของมูลค่ามรดกในส่วนที่ต้องเสียภาษี  ส่วนในกรณีที่ผู้รับ มรดกเป็นคู่สมรสจะได้รับการยกเว้นภาษี

การยื่นแบบเสียภาษี

             ผู้ได้รับมรดกมีหน้าที่ยื่นแบบเสียภาษี ภายใน 150 วัน นับแต่วันที่ได้รับมรดก ที่มีมูลค่ารวมกันเกินกว่า 100 ล้านบาท  โดยยื่น ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา  ในกรณีที่ผู้ รับมรดกเป็นผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ ให้ผู้แทนโดยชอบ ธรรม ผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ เป็นผู้มีหน้าที่ยื่นแทน

สิทธิในการผ่อนชำระภาษีการรับมรดก

            ผู้รับมรดก ที่ต้องเสียภาษี มีสิทธิผ่อนชำระภาษีภายในกำหนดเวลาไม่เกิน 5 ปี  และ ถ้าผ่อนชำระได้ครบถ้วนภายใน 2 ปี  จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม ส่วนกรณีที่ผ่อนชำระ ได้ครบถ้วนเกินกำหนด 2 ปี แต่ไม่เกิน 5 ปี จะต้องเสียเงินเพิ่มบางส่วน (ตามที่กำหนดใน พระราชกฤษฎีกาฯ)

อำนาจการประเมินภาษีของเจ้าพนักงาน

            กฎหมายได้กำหนดให้ เจ้าพนักงานมีอำนาจในการประเมินภาษีการรับมรดก ไว้ดังนี้

         กรณียื่นแบบและชำระภาษีภายในกำหนดเวลา 150 วัน นับแต่วันที่ได้รับมรดกเกิน100 ล้านบาท เจ้าพนักงานประเมิน ต้องตรวจสอบและประเมินภาษี(กรณีตรวจพบการชำระภาษี ไม่ถูกต้องครบถ้วน) ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ยื่นแบบ (ขยายเวลาได้ไม่เกิน 3 ปี) โดยไม่ให้คิดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มหากมีภาษีที่ต้องเสียเพิ่ม และ ผู้เสียภาษีได้ชำระภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งการประเมิน

          กรณีไม่ยื่นแบบภายในกำหนดเวลา เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีภายใน10 ปี นับแต่วันสุดท้ายของการยื่นแบบแสดง รายการภาษี

บทกำหนดโทษผู้เสียภาษี ในทางแพ่ง

            เบี้ยปรับและเงินเพิ่ม เป็นบทลงโทษทางแพ่ง ถ้าผู้รับมรดกไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการ ภาษีภายในกำหนดเวลา ต้องเสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่าของเงินภาษีที่ต้องชำระ ส่วนกรณียื่นแบบ แสดงรายการภาษีไว้แต่ไม่ครบถ้วนหรือไม่ตรงต่อความเป็นจริง อันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีที่ ต้องเสียขาดไปจะเสียเบี้ยปรับอีก 0.5 เท่า ของเงินภาษีที่ต้องเสียเพิ่ม เบี้ยปรับนี้ อาจงดหรือ ลดลงได้ตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไข ที่อธิบดีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี และประกาศในราชกิจจานุเบกษา  สำหรับเงินเพิ่มกรณีผู้รับมรดกไม่ชำระภาษีให้ครบถ้วนภาย ในกำหนดเวลา จะต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของ เงินภาษีที่ต้องชำระ โดยไม่รวมเบี้ยปรับ ส่วน กรณีที่ได้รับอนุญาตให้เลื่อนกำหนด เวลาการชำระภาษี และได้ชำระภาษีภายในกำหนดเวลาที่เลื่อนให้นั้น เงินเพิ่มลดลงเหลือ ร้อยละ 0.75 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน การคำนวณเงินเพิ่ม เริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดเวลายื่น แบบจนถึงวันที่ชำระภาษี แต่เงินเพิ่มที่คำนวณได้มิให้เกินจำนวนภาษีที่ต้องชำระ

สิทธิการขอคืนภาษี

            ยื่นคำร้องขอคืนภาษีได้ภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ชำระภาษีทั้งหมด ณ สำนักงาน สรรพากรพื้นที่สาขา นับแต่วันได้รับคำร้อง เจ้าพนักงานประเมินต้องตรวจสอบการขอคืนภาษี ให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน  และมีหนังสือแจ้งผู้ยื่นคำร้องภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ตรวจสอบ แล้วเสร็จ ถ้ามี กรณีที่ต้องคืนภาษีเจ้าพนักงาน จะต้องทำการ คืนเงินภาษีให้เสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ตรวจสอบแล้วเสร็จ ทั้งนี้ ผู้ขอคืนไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากเงินภาษีที่คืน

สิทธิการอุทธรณ์

            ผู้เสียภาษีที่ไม่เห็นด้วยกับจำนวนเงินภาษี ตามการแจ้งการประเมินภาษีของเจ้า พนักงานประเมิน มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้ง การประเมินภาษี  คณะกรรมการอุทธรณ์  ประกอบด้วยอธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้แทนเป็น ประธาน ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด และผู้แทนกรมการปกครอง  คณะกรรมการจะต้อง พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ (ขยายได้ไม่เกิน 90 วัน) และต้องแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ผู้เสียภาษีทราบเป็นหนังสือภายใน 15 วัน นับแต่วันมีคำ วินิจฉัย  กรณีที่ผู้อุทธรณ์ ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์มีสิทธิฟ้องต่อศาล ภาษีอากร ได้ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำวินิจฉัย หรือเมื่อ พ้นกำหนดเวลาหาก คณะกรรมการอุทธรณ์พิจารณาไม่แล้วเสร็จภายใน 180 วัน หรือ 90 วันที่ได้ขยาย โดย ไม่ต้องรอฟังผลการพิจารณาของคณะกรรมการอุทธรณ์   
 บทกำหนดโทษผู้เสียภาษีในทางอาญา

            ผู้เสียภาษีที่ไม่ยื่นแบบโดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท กรณีที่ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน หรือไม่ยอมตอบคำถามของ เจ้าพนักงานประเมิน หรือของประธานคณะกรรมการอุทธรณ์ ต้องระวางโทษจาคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทำลาย ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัดไปให้แก่บุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 400,000 บาท ทั้งนี้ ในกรณีผู้กระทำความผิดเป็นนิติบุคคลให้ กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือผู้แทนนิติบุคคล ผู้มีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคล รับโทษ จงใจยื่นข้อความเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดงเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี หรือโดยความเท็จ โดยเจตนา ละเลย โดยฉ้อโกงหรือใช้อุบายโดยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใด หลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยง การเสียภาษี หรือแนะนำหรือสนับสนุนให้บุคคลอื่นใดกระทำการดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

บทกำหนดโทษเจ้าพนักงาน
        
         บทบัญญัติของกฎหมาย นอกจากจะมีบทลงโทษผู้เสียภาษีทั้งทางแพ่งและอาญาแล้ว ยังบัญญัติบทลงโทษต่อเจ้าหนักงานด้วย กล่าวคือ เจ้าพนักงานที่รู้ข้อมูลของผู้มีหน้าที่เสียภาษี หรือของผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง แล้วนำออกแจ้งแก่บุคคลใดหรือทำให้รู้โดยวิธีใด หรือปล่อยปละ ละเลยให้ข้อมูลดังกล่าวรู้ถึงบุคคลที่ไม่มีหน้าที่ต้องรู้ โดยไม่มีอำนาจกระทำได้โดยชอบด้วย กฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 สองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

รู้แนวทางปฏิบัติก่อนวันใช้บังคับกฎหมาย

            พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ.2558  จะมีผลใช้บังคับในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 (ถ้าไม่มีการเลื่อนหรือขยายเวลาออกไปอีก) ดังนั้น ในขณะที่ยังไม่ถึงกำหนดเวลาการใช้บังคับ เงินได้ ที่ได้รับจากการรับมรดก เป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 42(10) แห่งประมวลรัษฎากร


- โปรดติดตามตอนต่อไป -

บริษัท โปรซอฟท์การบัญชี จำกัด และ สถาบันคัสเม่ ขอสงวนสิทธิ์ ห้ามตีพิมพ์ ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข บทความนี้ก่อนที่จะได้
รับอนุญาติจาก โปรซอฟท์การบัญชี และ สถาบันคัสเม่

Visit Prosoft Accounting website: http://prosoftthai.wix.com/rayongaccounting
Visit Kasme website: www.kasmethai.com


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น