เอกชนจี้รัฐแก้ปมภาษีนิติบุคคลซ้ำซ้อน ดับฝันลงทุนนอก!!
ข่าวจาก: Prachachat.net
เอกชน เผยปมบาทแข็งลงทุนนอกไม่เกิด จี้รัฐแก้ปมภาษีนิติบุคคลซ้ำซ้อน ไม่เอื้อดึงกำไรกลับ พร้อมแนะบีโอไอออกมาตรการลดหย่อนภาษีเสริมอีกชั้น ย้ำโฟกัสตลาดเพื่อนบ้านดีสุดเสี่ยงน้อย ส่วนการลงทุนในประเทศชะลอลากยาวถึงไตรมาส 1 ปี”63 ผลสำเร็จ EEC ยังไม่เร้าใจเท่าคู่แข่ง
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคเอกชนเดือนกันยายน 2562 ลดลงมาอยู่ที่ 92.1 ต่ำสุดในรอบ 12 เดือน เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอตัว สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ และเงินบาทแข็งค่า ผู้ประกอบการจึงต้องกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดอื่นมากขึ้น แต่ยังมีพบข้อจำกัดหลายด้าน
นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีมาตรการจูงใจเสริมการออกไปลงทุนต่างประเทศ ที่มากเพียงพอ โดยเฉพาะมาตรการด้านภาษี เช่น รัฐควรให้เอกชนสามารถลดหย่อนภาษีได้สำหรับเงินลงทุนที่นำออกไปลงทุนต่างประเทศ แม้เขาจะได้สิทธิประโยชน์จากฝั่งประเทศที่เข้าไปลงทุนแล้วก็ควรได้รับจากฝั่งไทยด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ที่ผ่านมาเอกชนที่ไปขยายการลงทุนในต่างประเทศแล้วต้องการส่งกำไรที่ได้จากการลงทุนกลับเข้ามาประเทศไทยจะต้องเสียภาษีซ้ำซ้อน (double tax) ทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศที่ออกไปลงทุน และภาษีเงินได้นิติบุคคลของไทยด้วย อีกทั้งแต่ละประเภทธุรกิจยังเสียภาษีในอัตราที่แตกต่างกัน
ดังนั้น เอกชนหวังจะให้ภาครัฐโดยเฉพาะ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สนับสนุน ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยออกไปลงทุนต่างประเทศ โดยให้ปรับเงื่อนไขการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อมาจูงใจ และกรมสรรพากรยกเว้นการเก็บภาษีจากกำไรที่ส่งกลับเข้ามาในประเทศไทย และสร้างความชัดเจนในกระบวนการเก็บภาษีในแต่ละประเภทธุรกิจด้วย
“การออกไปเปิดตลาดใหม่ เพื่อจะได้มีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มขึ้น เอกชนที่กล้าที่จะออกไปค้าขายไปลงทุน ถือเป็นการกระจายความเสี่ยงไปด้วย และประเทศที่เหมาะสมขั้นแรกเขาควรเริ่มที่แถบเพื่อนบ้านเราก่อน ไม่ต้องออกไปไกล เพราะเพื่อนบ้านคือตลาดที่ไม่ยาก มีความใกล้เคียงกันกับไทย จะทำให้เขากล้ามากขึ้น”
นายมนตรีกล่าวถึงแนวโน้มการลงทุนของเอกชนว่า ขณะนี้ยังคงมองเช่นเดิมว่าจะเห็นเม็ดเงินการลงทุนจริงในช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 เพราะนักลงทุนยังประเมินการลงทุนและนโยบายจากภาครัฐ ขณะที่การแข่งขันที่ไทยใช้ EEC มาเป็นตัวชูโรงและจูงใจ เตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงมาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่ Thailand Plus Package ออกมายังคงไม่หวือหวามากพอที่จะทำให้นักลงทุนตัดสินใจยื่นขอลงทุนได้ทันที
เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ซึ่งมีความได้เปรียบ ทั้งระบบการเมืองแบบสังคมนิยม จึงสามารถสร้างแรงจูงใจจากการออกประกาศกำหนดมาตรการสิทธิประโยชน์การลงทุน เช่น การเช่าที่ดินชัดเจนตั้งแต่ต้น ในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษซึ่งอนุญาตให้ต่างชาติเช่าที่ดินได้ 99 ปี มาเป็นตัวเล่นดึงการลงทุน
“เพราะเขารู้ว่าการที่จะทำอะไร นักลงทุนต้องดูพื้นที่ สิทธิประโยชน์เรื่องที่ดินก่อนที่จะตัดสินใจทำอย่างอื่น ที่เหลือคือสิทธิประโยชน์ที่จะได้ตามมาหลังจากลงทุนไปแล้ว นั่นคือการยกเว้นภาษี และลดหย่อนภาษีแบบที่ไทยกำลังทำ”
รายงานข่าวระบุว่า การสนับสนุนผู้ประกอบการออกไปลงทุนต่างประเทศของ บีโอไอ จะอยู่ภายใต้กองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ โดยในแต่ละปีจะมีการจัดอบรมและกิจกรรมให้กับนักลงทุนไทยหน้าใหม่ ภายใต้โปรแกรม TOISC ซึ่งประเทศเป้าหมายและกลุ่มที่มีศักยภาพยังคงเป็น CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) โดยจากสถิติการลงทุนปี 2561 พบว่า ไทยไปลงทุนเวียดนามสูงถึง 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เมียนมา 2,200 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2560 กัมพูชา 15.75 ล้านเหรียญสหรัฐ และลาว 4,400 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ เพื่อขยายขนาดตลาดการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ เพื่อแสวงหาวัตถุดิบและแรงงานที่ถูก เพื่อการกระจายความเสี่ยง รักษาเสถียรภาพ และค้ำจุนตลาดการเงิน และเพื่อแลกเปลี่ยนความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี