วันอาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

Update Tax News: เอกชนจี้รัฐแก้ปมภาษีนิติบุคคลซ้ำซ้อน ดับฝันลงทุนนอก!!

เอกชนจี้รัฐแก้ปมภาษีนิติบุคคลซ้ำซ้อน ดับฝันลงทุนนอก!!

ข่าวจาก: Prachachat.net

เอกชน เผยปมบาทแข็งลงทุนนอกไม่เกิด จี้รัฐแก้ปมภาษีนิติบุคคลซ้ำซ้อน ไม่เอื้อดึงกำไรกลับ พร้อมแนะบีโอไอออกมาตรการลดหย่อนภาษีเสริมอีกชั้น ย้ำโฟกัสตลาดเพื่อนบ้านดีสุดเสี่ยงน้อย ส่วนการลงทุนในประเทศชะลอลากยาวถึงไตรมาส 1 ปี”63 ผลสำเร็จ EEC ยังไม่เร้าใจเท่าคู่แข่ง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคเอกชนเดือนกันยายน 2562 ลดลงมาอยู่ที่ 92.1 ต่ำสุดในรอบ 12 เดือน เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอตัว สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ และเงินบาทแข็งค่า ผู้ประกอบการจึงต้องกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดอื่นมากขึ้น แต่ยังมีพบข้อจำกัดหลายด้าน

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีมาตรการจูงใจเสริมการออกไปลงทุนต่างประเทศ ที่มากเพียงพอ โดยเฉพาะมาตรการด้านภาษี เช่น รัฐควรให้เอกชนสามารถลดหย่อนภาษีได้สำหรับเงินลงทุนที่นำออกไปลงทุนต่างประเทศ แม้เขาจะได้สิทธิประโยชน์จากฝั่งประเทศที่เข้าไปลงทุนแล้วก็ควรได้รับจากฝั่งไทยด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ที่ผ่านมาเอกชนที่ไปขยายการลงทุนในต่างประเทศแล้วต้องการส่งกำไรที่ได้จากการลงทุนกลับเข้ามาประเทศไทยจะต้องเสียภาษีซ้ำซ้อน (double tax) ทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศที่ออกไปลงทุน และภาษีเงินได้นิติบุคคลของไทยด้วย อีกทั้งแต่ละประเภทธุรกิจยังเสียภาษีในอัตราที่แตกต่างกัน

ดังนั้น เอกชนหวังจะให้ภาครัฐโดยเฉพาะ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สนับสนุน ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยออกไปลงทุนต่างประเทศ โดยให้ปรับเงื่อนไขการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อมาจูงใจ และกรมสรรพากรยกเว้นการเก็บภาษีจากกำไรที่ส่งกลับเข้ามาในประเทศไทย และสร้างความชัดเจนในกระบวนการเก็บภาษีในแต่ละประเภทธุรกิจด้วย

“การออกไปเปิดตลาดใหม่ เพื่อจะได้มีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มขึ้น เอกชนที่กล้าที่จะออกไปค้าขายไปลงทุน ถือเป็นการกระจายความเสี่ยงไปด้วย และประเทศที่เหมาะสมขั้นแรกเขาควรเริ่มที่แถบเพื่อนบ้านเราก่อน ไม่ต้องออกไปไกล เพราะเพื่อนบ้านคือตลาดที่ไม่ยาก มีความใกล้เคียงกันกับไทย จะทำให้เขากล้ามากขึ้น”

นายมนตรีกล่าวถึงแนวโน้มการลงทุนของเอกชนว่า ขณะนี้ยังคงมองเช่นเดิมว่าจะเห็นเม็ดเงินการลงทุนจริงในช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 เพราะนักลงทุนยังประเมินการลงทุนและนโยบายจากภาครัฐ ขณะที่การแข่งขันที่ไทยใช้ EEC มาเป็นตัวชูโรงและจูงใจ เตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงมาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่ Thailand Plus Package ออกมายังคงไม่หวือหวามากพอที่จะทำให้นักลงทุนตัดสินใจยื่นขอลงทุนได้ทันที

เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ซึ่งมีความได้เปรียบ ทั้งระบบการเมืองแบบสังคมนิยม จึงสามารถสร้างแรงจูงใจจากการออกประกาศกำหนดมาตรการสิทธิประโยชน์การลงทุน เช่น การเช่าที่ดินชัดเจนตั้งแต่ต้น ในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษซึ่งอนุญาตให้ต่างชาติเช่าที่ดินได้ 99 ปี มาเป็นตัวเล่นดึงการลงทุน

“เพราะเขารู้ว่าการที่จะทำอะไร นักลงทุนต้องดูพื้นที่ สิทธิประโยชน์เรื่องที่ดินก่อนที่จะตัดสินใจทำอย่างอื่น ที่เหลือคือสิทธิประโยชน์ที่จะได้ตามมาหลังจากลงทุนไปแล้ว นั่นคือการยกเว้นภาษี และลดหย่อนภาษีแบบที่ไทยกำลังทำ”

รายงานข่าวระบุว่า การสนับสนุนผู้ประกอบการออกไปลงทุนต่างประเทศของ บีโอไอ จะอยู่ภายใต้กองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ โดยในแต่ละปีจะมีการจัดอบรมและกิจกรรมให้กับนักลงทุนไทยหน้าใหม่ ภายใต้โปรแกรม TOISC ซึ่งประเทศเป้าหมายและกลุ่มที่มีศักยภาพยังคงเป็น CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) โดยจากสถิติการลงทุนปี 2561 พบว่า ไทยไปลงทุนเวียดนามสูงถึง 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เมียนมา 2,200 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2560 กัมพูชา 15.75 ล้านเหรียญสหรัฐ และลาว 4,400 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ เพื่อขยายขนาดตลาดการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ เพื่อแสวงหาวัตถุดิบและแรงงานที่ถูก เพื่อการกระจายความเสี่ยง รักษาเสถียรภาพ และค้ำจุนตลาดการเงิน และเพื่อแลกเปลี่ยนความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี




วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2562

เตรียมความพร้อมกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2563

เตรียมความพร้อมกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2563 !

ที่มา: www.kasmethai.com/taxwatch

กฏหมายภาษีที่ดิน ที่กำลังจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป ในวันนี้ สถาบันคัสเม่จึงขอสรุปสาระสำคัญ ที่เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างควรทราบ และทำความเข้าใจว่าเราอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีที่ดิน ด้วยหรือไม่

เรามาทำความเข้าใจกับอัตราภาษี สำหรับที่ดินในแต่ละประเภทกันก่อนค่ะ

ที่ดินสำหรับการทำเกษตรกรรม 
(ทำนา ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์บก/น้ำ และอื่นๆตามที่ประกาศกำหนด)
มูลค่าที่ดิน 0-75 ล้านบาท >> อัตราภาษี 0.01%
มูลค่าที่ดิน 75-100 ล้านบาท >> อัตราภาษี 0.03%
มูลค่าที่ดิน 100-500 ล้านบาท >> อัตราภาษี 0.05%
มูลค่าที่ดิน 500-1,000 ล้านบาท >> อัตราภาษี 0.07%
มูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาทขึ้นไป อัตราภาษี 0.10%

ยกเว้นภาษีบุคคลธรรมดา สำหรับมูลค่าที่ดิน 50 ล้านบาทแรก และยกเว้นการจัดเก็บภาษีกับบุคคลธรรมดาใน 3 ปีแรก ที่กฏหมายบังคับใช้

ที่ดินสำหรับการสร้างที่อยู่อาศัย

กรณีบ้านหลังหลัก บุคคลธรรมดาเป็นเจ้าของที่ดิน+สิ่งปลูกสร้าง+มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
มูลค่าไม่ถึง 25 ล้านบาท >> อัตราภาษี 0.03%
มูลค่า 25-50 ล้านบาท >> อัตราภาษี 0.05%
มูลค่า 50 ล้านบาทขึ้นไป >> อัตราภาษี 0.10%

กรณีบ้านหลังหลัก บุคคลธรรมดาเป็นเจ้าของเฉพาะสิ่งปลูกสร้าง+มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
มูลค่าไม่ถึง 40 ล้านบาท >> อัตราภาษี 0.02%
มูลค่า 40-65 ล้านบาท >> อัตราภาษี 0.03%
มูลค่า 65-90 ล้านบาท >> อัตราภาษี 0.05%
มูลค่า 90 ล้านบาทขึ้นไป >> อัตราภาษี 0.10%

กรณีบ้านหลังอื่นๆ
มูลค่าไม่ถึง 50 ล้านบาท >> อัตราภาษี 0.02%
มูลค่า 50-75 ล้านบาท >> อัตราภาษี 0.03%
มูลค่า 75-100 ล้านบาท >> อัตราภาษี 0.05%
มูลค่า 100 ล้านบาทขึ้นไป >> อัตราภาษี 0.10%

กรณีบ้านหลังหลักที่เป็นเจ้าของบ้านและเจ้าของที่ดิน (เจ้าของบ้านอาศัยอยู่เอง) ได้รับการยกเว้นภาษี  50 ล้านบาทแรก ส่วนกรณีเป็นเจ้าของเฉพาะบ้านอย่างเดียว (บ้านเจ้าของอยู่เองบนที่ดินเช่า) จะได้รับการยกเว้นภาษี 10 ล้านบาทแรก

ที่ดินที่ใช้ในกลุ่มพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม
มูลค่าที่ดิน 0-50 ล้านบาท >> อัตราภาษี 0.3%
มูลค่าที่ดิน 50-200 ล้านบาท >> อัตราภาษี 0.4%
มูลค่าที่ดิน 200-1,000 ล้านบาท >> อัตราภาษี 0.5%
มูลค่าที่ดิน 1,000-5,000 ล้านบาท >> อัตราภาษี 0.6%
มูลค่าที่ดินเกิน 5,000 ล้านบาท >> อัตราภาษี 0.7%

ที่ดินที่ไม่ได้ใช้ทำประโยชน์ เพดานภาษีสูงสุด 1.2% แต่จะเพิ่มเพดานเป็น 3% เมื่อปล่อยทิ้งว่างติดต่อกัน 3 ปี
มูลค่าที่ดิน 0-50 ล้านบาท >> อัตราภาษี 0.3%
มูลค่าที่ดิน 50-200 ล้านบาท >> อัตราภาษี 0.4%
มูลค่าที่ดิน 200-1,000 ล้านบาท >> อัตราภาษี 0.5%
มูลค่าที่ดิน 1,000-5,000 ล้านบาท >> อัตราภาษี 0.6%
มูลค่าเกิน 5,000 ล้านบาท >> อัตราภาษี 0.7%

และถ้าหากปล่อยร้างเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน จะถูกเก็บภาษีเพิ่มอีก 0.3% ในปีที่ 4 และถูกเก็บเพิ่มขึ้น 0.3% ทุกๆ 3 ปี หากยังไม่ได้มีการนำมาใช้ประโยชน์ แต่สูงสุดไม่เกิน 3%

ทั้งนี้ อัตราการเก็บภาษีตามมูลค่าแบบขั้นบันได จะบังคับใช้ใน 2 ปีแรก (2563-2564) ส่วนปีต่อไปจะพิจารณาเก็บตามอัตราเพดานสูงสุดอีกที

ในบทความหน้า เราจะมาอัพเดตกันต่อเนื่องในเรื่องของวิธีการคำนวณภาษีที่ดินกันค่ะ