วันอังคารที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2558

กรมสรรพากรแจกฟรีโปรแกรมบัญชีอย่างง่ายสำหรับผู้ประกอบการ SMEs

ทางกรมสรรพากรได้จัดทำโปรแกรมบัญชีอย่างง่าย เพื่อสำหรับผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะ ด้วยเหตุนี้ สนง.บัญชีโปรซอฟท์การบัญชี ได้รวบรวมขั้นตอนดาวน์โหลดเพื่อนำมาใช้งานสำหรับท่านผู้ประกอบการ SMEs หรือท่านที่สนใจ ดังนี้ค่ะ

ขั้นตอนที่ 1  ตรวจสอบข้อมูลพื้นฐานคอมพิวเตอร์ที่สามารถใช้กับโปรแกรมบัญชีได้
                   - เครื่องคอมพิวเตอร์ ที่มี CPU: Pentium II 2 GHz ขึ้นไป
                   - ระบบปฏิบัติการ Windows XP, 7, 8
                   - Memory 1 GB ขึ้นไป
                   - พื้นที่ว่างบน HDD : 5 GB
                   - เครื่องปริ๊นท์ติดตั้งกับคอมพิวเตอร์แล้ว
ขั้นตอนที่ 2 เร่ิมดาวน์โหลด ท่านสามารถคลิ๊กเพื่อดาวน์โหลดในครั้งเดียวได้ที่นี่ค่ะ

*** โปรดสังเกต หลังจากคลิ๊กที่ลิ้งค์ด้านบน เลื่อนเม้าส์ไปที่รูปด้านล่าง คลิ๊กที่รูปเพื่อทำการดาวน์โหลดอีกครั้งค่ะ ***
ขั้นตอนที่ 3  หลังจากที่ดาวน์โหลดแล้ว ดับเบิ้ลคลิ๊กเปิดไฟล์ที่มีชื่อว่า "Setup_RDSMEs.exe" ขึ้นมาค่ะ 
                   หลังจากนั้นคลิ๊ก Run ค่ะ
ขั้นตอนที่ 4  คลิ๊ก Browse  ตรงช่อง "Destination folder" เพื่อเลือกที่จัดเก็บไฟล์ ในคอมพิวเตอร์ของ   
                   ท่านค่ะ  เสร็จแล้วคลิ๊ก "Extract" ค่ะ
ขั้นตอนที่ 5  ไปยังที่จัดเก็บไฟล์ที่ท่านได้เลือกไว้ เสร็จแล้วดับเบิ้ลคลิ๊กแฟ้มชื่อ "Setup_RDSMEs"
ขั้นตอนที่ 6  ดับเบิ้ลคลิ๊กที่ไอคอนสรรพากรในแฟ้มดังกล่าวค่ะ "autorun.exe" เมื่อคลิ๊กเข้าไปจะพบ vdo 
                   เปิดเล่นอัตโนมัติ จะเป็น vdo แนะนำโปรแกรมค่ะ
ขั้นตอนที่ 7  คลิ๊กที่ "ติดตั้งโปรแกรมบัญชีอย่างง่ายสำหรับผู้ประกอบการ SMEs" ตรงด้านล่าง vdo
                    หลังจากคลิ๊ก หน้าคำแนะนำและคำเตือนจะโชว์ขึ้นมา ท่านสามารถอ่านรายละเอียด หลัง
                    จากนั้นคลิ๊ก Next

จะพบหน้า ตรวจสอบก่อนติดตั้งโปรแกรมขึ้นมา ดังนี้

กรุณาตรวจสอบก่อนติดตั้งโปรแกรม
เครื่องมี Microsoft .NET Framework สูงกว่าเวอร์ชั่น 3.5 ต้องทำอย่างไร
1. Uninstall เวอร์ชั่นที่สูงกว่าออกทั้งหมด เช่น เวอร์ชั่น 4.0 เวอร์ชั่น 4.5
2. ติดตั้งโปรแกรม

เครื่องมี Microsoft .NET Framework ต่ำกว่าเวอร์ชั่น 3.5 ต้องทำอย่างไร
>> ติดตั้งโปรแกรมได้ทันที
วิธีดูเครื่องมี Microsoft .NET Framework เวอร์ชั่นอะไรบ้าง
Windows XP  ไปที่ Control Panel > Add or Remove Programs > Microsoft .NET Framework 3.5 SP1 | 4.0 | 4.5
Windows 7, 8 ไปที่ Control Panel > Programs and Features > Microsoft .NET Framework 3.5 | 4.0 | 4.5

หลังจากตรวจสอบ คลิ๊ก Next
ขั้นตอนที่ 8  ตรวจสอบระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ของท่าน
                   กรณีท่านใช้ Windows XP คลิ๊กที่ปุ่มตรวจสอบสำหรับ XP เพื่อทราบว่า OS เป็นแบบ 32 Bit 
                   หรือ64 Bit ค่ะ และทำเช่นเดียวกันกับกรณีที่ท่านใช้เครื่อง Windows 7,8 ค่ะ 
ขั้นตอนที่ 9  หน้าต่าง System Information จะโชว์รายละเอียด ให้ดูที่ Processor หรือ System Type ค่ะ 
                   กรณีโชว์ x86 นั่นหมายถึงระบบ OS คอมพิวเตอร์ของท่านคือ 32 Bit ค่ะ หลังจากทราบแล้ว
                   คลิ๊กปิดหน้าต่างนี้ได้เลยค่ะ และคลิ๊ก Next
ขั้นตอนที่ 10 จะมีปุ่มให้ท่านเลือกกด 2 ปุ่ม คือ
                     Setup RDSMEs for Windows 32 Bit (x86) สำหรับคอมพิวเตอร์ระบบ OS = 32 Bit
                     Setup RDSMEs for Windows 64 Bit สำหรับคอมพิวเตอร์ะบบ OS = 64 Bit
                     ท่านสามารถเลือกกดปุ่มตามระบบ OS หรือระบบปฏิบัติการที่เครื่องคอมพิวเตอร์ของท่าน
                     มีได้เลยค่ะ
ขั้นตอนที่ 11  Install โปรแกรม คลิ๊ก Next เสร็จแล้วคลิ๊ก Install ค่ะ
ขั้นตอนที่ 12  หลังจาก Install ท่านจะพบ icon shortcut รูปสัญลักษณ์กรมสรรพากรขึ้นที่หน้าจอ กรณีที่
                      ท่านต้องการเริ่มใช้งาน สามารถคลิ๊กเข้าไปและใส่ Username & Password ดังนี้ค่ะ
                      Username: rdsmes
                      Password: rdsmes
ขั้นตอนที่ 13  ท่านจะพบหน้าต่างคำแนะนำและคำเตือนอีกครั้ง และปุ่มที่ให้เลือกคลิ๊กได้ ประกอบด้วย

ระบบงานบัญชี  >>> ปุ่มเพื่อกำหนดค่ากิจการของท่าน คู่ค้า รหัสต่างๆทางบัญชี บันทึกบัญชี รายได้ ค่าใช้จ่าย เจ้าหนี้ ลูกหนี้ และรายละเอียดอื่นๆด้านบัญชี เป็นต้น

ระบบงานภาษีมูลค่าเพิ่ม  >>> ปุ่มแสดงใบกำกับภาษีซื้อ ภาษีขาย พิมพ์รายงานภาษีซื้อ/ขาย เตรียมแบบ ภ.พ.30 พิมพ์ใบแนบ เช็คสต็อกการ์ด เป็นต้น

System Flowchart >>> ปุ่มแสดงถึงขอบเขตความสามารถของโปรแกรม ระบบซื้อ ขาย ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น

"โปรดศึกษาคู่มือการใช้งานโปรแกรมบัญชีอย่างง่ายสำหรับผู้ประกอบการ SMEs" >> คู่มือการใช้งาน
โปรแกรมที่สามารถศึกษาได้ค่ะ

ในครั้งต่อไป เราจะกลับมาพร้อมคำอธิบายอย่างง่ายเพื่อประกอบการใช้งาน สำหรับโปรแกรมบัญชีที่จัดทำโดยกรมสรรพากรค่ะ

โปรซอฟท์การบัญชี
20 ปีแห่งความไว้วางใจ

20 ปีแห่งความไว้วางใจ
www.prosoftthai.wix.com/rayongaccounting
FB: facebook.com/prosoftrayongaccounting

       



วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558

รู้ทัน 3 ภาษีมรดก (ภาษีใหม่ที่จะมีการบังคับใช้ในปี 2559 นี้) + ภาค 2 + ภาษีการให้

รู้ทัน 3 ภาษีมรดก ภาค 2


ภาคต่อบทความ "รู้ทัน 3 ภาษีมรดก" สำหรับในภาคนี้เราจะพูดถึงประเด็นหัวข้อ "ภาษีการให้ หรือ Gift Tax" กันค่ะ

รู้ทันภาษีการให้ (Gift Tax)

หลักการจัดเก็บภาษี
           
            ภาษีการให้  มีการบังคับจัดเก็บกรณีที่เจ้าของทรัพย์สินโอนเงินได้หรือทรัพย์สิน ทั้งที่ เป็นสังหาริมทรัพย์( ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้) หรืออสังหาริมทรัพย์ (ทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินที่ เคลื่อนที่ไม่ได้) ให้กับบุคคลอื่นขณะที่ตนเองยังมีชีวิตอยู่ ขอเน้นและให้ข้อสังเกตว่าผู้ให้ต้อง ยังมีชีวิตอยู่  เพราะถ้าเสียชีวิตแล้ว จะไม่เรียกว่าการให้ การให้ในลักษณะนี้แต่เดิมกรณีที่เป็นสังหาริมทรัพย์ ถ้าผู้รับนั้นได้รับจากการอุปการะ โดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือได้รับจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีไม่ว่าสิ่งของที่ได้รับนั้นจะมีจำนวนมากเท่าใด จะได้รับยกเว้นภาษี ส่วนในกรณีการ ให้อสังหาริมทรัพย์ เดิมมีการยกเว้นภาษีการให้นี้ เฉพาะกรณีที่บิดามารดาโอนกรรมสิทธิ์หรือ สิทธิครอบครองให้กับบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งไม่รวมบุตรบุญธรรม โดยไม่จำกัดจำนวน เช่นเดียวกัน ต่อเมื่อมีการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ การให้ไม่ว่าจะเป็นสังหาริมทรัพย์ หรืออสังหา ริมทรัพย์  ผู้ให้ หรือ ผู้รับจากการให้มีภาระภาษี ดังนี้

ผู้มีหน้าที่เสียภาษี (Tax Payer)

         กรณีสังหาริมทรัพย์(สังหาริมทรัพย์ทุกประเภทที่สามารถคำนวณได้เป็นเงิน) ผู้มีหน้าที่เสียภาษี ได้แก่

           1.บุคคลธรรมดา ที่ได้รับทรัพย์สินหรือเงินได้จากการอุปการะหรือจากการให้โดยเสน่หา จากบุพพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส
            2.บุคคลธรรมดา ที่ได้รับทรัพย์สินหรือเงินได้ จากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา หรือจากการให้โดยเสน่หา เนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี ทั้งนี้จาก บุคคลซึ่งมิใช่บุพพการี ผู้สืบสันดาน  หรือคู่สมรส

            กรณีอสังหาริมทรัพย์  ผู้มีหน้าที่เสียภาษี ได้แก่

บิดามารดาที่เป็นผู้โอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายซึ่งไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษี  คือ อสังหาริมทรัพย์ทุกประเภท

***** บุพการี หมายถึง ญาติทางสายโลหิตโดยตรงขึ้นไป ได้แก่ บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด
***** ผู้สืบสันดาน หมายถึง ผู้สืบสายโลหิตโดยตรงลงมา ได้แก่ ลูก หลาน เหลน ลื้อ

ฐานภาษี(Tax Base) และอัตราภาษี(Tax Rate)
        
         การให้สังหาริมทรัพย์ ผู้มีหน้าที่เสียภาษี ได้แก่ผู้รับจากการให้ กรณีผู้รับให้ ได้รับเนื่อง จาก การอุปการะหรือจากการให้โดยเสน่หา จากบุพพการีผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส ฐาน ภาษีที่ผู้มีเงินได้หรือผู้รับต้องเสียภาษี คือ มูลค่าของเงินได้ส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท ตลอดปี ภาษีนั้น เน้นย้ำว่าเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เกิน 20 ล้านเท่านั้น ส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้าน ได้รับ ยกเว้นภาษี
          แต่ถ้าผู้รับ ได้รับสังหาริมทรัพย์จากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือจากการให้ โดยเสน่หา เนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี ทั้งนี้จากบุคคล ซึ่งมิใช่
บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส การยกเว้นภาษีจากการให้นี้จะเหลือเพียง 10 ล้านบาท ตลอดปีภาษีนั้น  ส่วนที่เกิน 10 ล้านบาท ต้องเสียภาษี  

            อัตราภาษี ผู้เสียภาษี(ผู้รับจากการให้)ต้องเสียภาษีในอัตรา ร้อยละ 5 ของเงินได้หรือ ทรัพย์สิน ส่วนที่เกิน 20 ล้าน หรือ 10 ล้านบาท แล้วแต่กรณี

            ในส่วนของอสังหาริมทรัพย์ ภาษีการให้ใช้ในกรณีที่บิดามารดา โอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิ ครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม

             ฐานภาษีที่ต้องเสียภาษีคือเงินได้ส่วนที่เกิน 20 ล้านบาทตลอดปีภาษีนั้น  เงินได้ส่วน ที่ไม่เกิน 20 ล้านบาท ได้รับยกเว้นภาษี

            อัตราภาษี การโอนอสังหาริมทรัพย์ เสียภาษีในอัตรา ร้อยละ 5 ของส่วนที่เกิน20 ล้านบาท  ซึ่งกฎหมากำหนดให้ผู้โอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ต้องมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 5 ในคราวที่มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง ในอสังหาริมทรัพย์
           
การยื่นแบบเสียภาษี

            กฎหมายกำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีต้อง มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90) ภายในเดือนมีนาคม ของทุกปี เช่นเดียวกันกับการยื่นแบบแสดง รายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของเงินได้ประเภทอื่น ทั่วไป แต่กฎหมายให้สิทธิผู้เสียภาษี ไม่ว่าจะเป็นเงินได้จากการให้สังหาริมทรัพย์ หรืออสังหาริมทรัพย์  ผู้เสียภาษีมีสิทธิจะเลือก เสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของมูลค่าทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีสำหรับส่วนที่เกิน 10 ล้านบาท หรือ 20 ล้านบาท โดยที่ไม่ต้องนำไปรวมกับเงินได้อย่างอื่น หรือผู้เสียภาษีจะเลือกนำเงินได้ไป รวมคำนวณภาษีกับเงินได้ประเภทอื่น ๆ ก็ได้

รู้แนวทางปฏิบัติก่อนวันบังคับใช้กฎหมาย

         ข้อที่ควรทราบ ในระหว่างที่กฎหมายยังไม่ถึงกำหนดเวลาบังคับใช้  การให้ไม่ว่าจะเป็น การให้สังหาริมทรัพย์  หรือการให้อสังหาริมทรัพย์  แนวทางปฏิบัติในการจัดเก็บภาษียังคงใช้ บทบัญญัติตามกฎหมายเดิม ก่อนที่จะมีการยกเลิก กล่าวคือ
             เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา  หรือจากการให้โดยเสน่หา เนื่อง ในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี จะได้รับยกเว้นภาษี ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42(10)  และ
            เงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บุตรโดยชอบ ด้วยกฎหมายของตนโดยไม่มีค่าตอบแทน(บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม)จะได้รับยกเว้นภาษี ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42(17) ประกอบกับกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ข้อ 2 (18)

- โปรดติดตามตอนต่อไป -


บริษัท โปรซอฟท์ การบัญชี จำกัด และ สถาบันคัสเม่ ขอสงวนสิทธิ์ ห้ามตีพิมพ์ ดัดแปลง แก้ไข ทำซ้ำบทความนี้ ก่อนที่จะได้รับอนุญาติจาก บริษัท โปรซอฟท์ การบัญชี จำกัด และ สถาบันคัสเม่

Visit Kasme Website: www.kasmethai.com

 

รู้ทัน 3 ภาษีมรดก (ภาษีใหม่ที่จะมีการบังคับใช้ในปี 2559 นี้) + ภาค 1 +

รู้ทัน 3 ภาษีมรดก


by อ.ดำริ ดวงนภา (Tax Auditor, ผู้บริหารบริษัท โปรซอฟท์ การบัญชี จำกัด และ สถาบันคัสเม่)                                  
ที่มาของกฎหมาย                                                             

ในที่สุดรัฐบาลคสช.ก็ได้ประกาศใช้บังคับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษี มรดก (Estate Tax) และ ภาษีทรัพย์สิน(Property Tax) ออกมา 2 ฉบับ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม2558 โดยให้เหตุผลในการจัดเก็บภาษีมรดก มีนัยยะว่า เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็น ธรรมในสังคม เนื่องจากการโอนทรัพย์สินโดยทางมรดกในปัจจุบันได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี ไม่ว่าทรัพย์สินที่ถ่ายโอนนั้นจะมีจำนวนมูลค่ามากน้อยเพียงใด จึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัด เก็บภาษีจากการรับมรดก ที่มีมูลค่าจำนวนมากเพื่อนำไปพัฒนาประเทศและยกระดับการ ดำรงชีวิตของประชาชนผู้ยากไร้ให้ดีขึ้น และเหตุผลต่อเนื่องมาที่ต้องจัดเก็บภาษีจากการให้ ทรัพย์สินด้วยนั้น ก็เพื่อให้มีความสอดคล้องไปในทางเดียวกันกับภาษีการรับมรดก ให้การ บังคับใช้กฎหมายสามารถปฏิบัติได้จริง เพราะหากไม่มีการจัดเก็บภาษีจากการให้ควบคู่กัน ก็จะทำให้มีช่องว่าง (Loophole) ทางกฎหมาย ผู้ที่มีทรัพย์สินจำนวนมากก็จะมีการเลี่ยงภาษี โดยมีการโอนให้ทายาท หรือบุคคลอื่นไปก่อน โดยที่ไม่ต้องเสียภาษีในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่  ซึ่งดีกว่าการเก็บรักษาทรัพย์สินไว้รอโอนให้เป็นมรดก ภายหลังการเสียชีวิต  ที่จะต้องเสียภาษี การรับมรดก ตามกฎหมายที่บัญญัติออกมาใหม่นี้  ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเหตุผล ที่ผู้ร่างกฎหมาย จำเป็นต้องบัญญัติกฎหมาย 2 ฉบับนี้มาใช้บังคับควบคู่กัน

รู้ทัน 3 ภาษีมรดก เล่มนี้ จะขอเว้นการวิเคราะห์หรือวิจารณ์ว่า การออกกฎหมายครั้งนี้ จะลดความเหลื่อมล้ำ กล่าวคือ ลดช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย และสร้างความเป็นธรรม ได้จริงตามคำปรารภของกฎหมายหรือไม่ เม็ดเงินภาษีที่จะจัดเก็บได้นั้นจะคุ้มค่ากับต้นทุนและ ค่าใช้จ่าย ที่กรมสรรพากรต้องจ่ายในการจัดเก็บไหม หรือผลที่ได้จากการออกกฎหมายจะเป็น เพียงแค่สัญลักษณ์ ว่าได้ลดความเหลื่อมล้ำเพียงเท่านั้น แต่หนังสือนี้มุ่งหมายให้ผู้อ่านได้ ทราบและเข้าใจพอสังเขป เกี่ยวกับประเภทของภาษีทรัพย์สินและภาษีมรดกที่ใช้จัดเก็บ ในประเทศไทย ให้รู้หลักการจัดเก็บภาษี รู้ว่าใครเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี รู้จักฐานภาษี การได้รับ ยกเว้นภาษี และอัตราภาษี ที่ใช้จัดเก็บนั้นเป็นอย่างไร  เพื่อประโยชน์เบื้องต้นในการวาง แผนว่าถ้ามีกรณีที่จะต้องเสียภาษีควรจะเสียภาษีทั้ง 3 ประเภทเหล่านี้อย่างไร จึงจะถูกต้อง ถูกกฎหมาย และประหยัดภาษีด้วย

รู้จักกับ 3  ภาษีมรดก

กล่าวโดยภาพรวม ภาษีมรดก ที่ออกมาใหม่ทั้งสองฉบับดังกล่าว ที่เรียกว่า ภาษีการให้ ถือเป็นภาษีตัวหนึ่งของภาษีทรัพย์สิน (Property Tax) ส่วนภาษีการรับมรดกก็ถือเป็นภาษี หนึ่งของภาษีมรดก(Estate Tax) ในทางวิชาการภาษีอากรเรียกชื่อกฎหมายภาษีทั้งสอง ฉบับ นี้ว่าภาษีการให้ (Gift Tax) และ ภาษีการรับมรดก (Inheritance Tax) (ทั้งนี้ยังไม่นับรวมถึง ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นภาษีทรัพย์สินอีกตัวหนึ่ง  ที่มีทีท่าว่ากำลังจะออกมาใหม่อีก ฉบับเพื่อใช้แทนภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างที่เก่าและล้าสมัย)  ส่วนภาษีมรดก อีกประเภท หนึ่งที่กรมสรรพากรมีการจัดเก็บอยู่แล้วแต่เดิม  แต่เชื่อว่ายังมีคนจำนวนมากที่ยังไม่ทราบ ไม่รู้จัก คือ ภาษีกองมรดก (Estate Tax) รวมแล้ว เมื่อถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2559  (ครบ 180 วัน นับแต่วันประกาศใช้กฎหมาย ) ถ้าไม่มีเหตุจำเป็นที่ทำให้ต้องมีการขยายเวลาหรือ เลื่อน การบังคับใช้กฎหมายออกไป กรมสรรพากร จะต้องมีหน้าที่จัดเก็บภาษีในกลุ่มภาษีมรดก นี้ รวม 3 ประเภทภาษีอากร  จึงขอนำผู้อ่านมาทำความรู้จัก และ รู้ทัน กับ 3ภาษีมรดก ดังนี้

1. ภาษีการให้ (Gift Tax) เป็นภาษีที่บัญญัติออกใหม่  มีการใช้บังคับจัดเก็บโดยการ ออกพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรฉบับที่40  พ.ศ. 2558  เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2558

2. ภาษีการรับมรดก ( Inheritance Tax) เป็นภาษีที่ร่างขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับ ใช้บังคับจัดเก็บโดย มีการตรากฎหมายใหม่ ออกมาเลยในวันเดียวกันกับภาษีการให้ เรียกชื่อกฎหมายนี้ว่าพระราช บัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558

3. ภาษีกองมรดก (Estate  Tax) ภาษีเก่าที่กรมสรรพากรมีการจัดเก็บอยู่แต่เดิม บังคับจัดเก็บ จากกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง ตามกฎหมายภาษีสรรพากร ที่เรียกว่าประมวลรัษฎากร

- โปรดติดตามตอนต่อไป -


บริษัท โปรซอฟท์การบัญชี จำกัด ขอสงวนลิขสิทธิ์ ห้ามตีพิมพ์ ดัดแปลง แก้ไข ทำซำ้บทความนี้ก่อนได้รับอนุญาติ
จาก บริษัท โปรซอฟท์การบัญชี จำกัด และ สถาบันคัสเม่

Visit Kasme Website: www.kasmethai.com