วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558

รู้ทัน 3 ภาษีมรดก (ภาษีใหม่ที่จะมีการบังคับใช้ในปี 2559 นี้) + ภาค 1 +

รู้ทัน 3 ภาษีมรดก


by อ.ดำริ ดวงนภา (Tax Auditor, ผู้บริหารบริษัท โปรซอฟท์ การบัญชี จำกัด และ สถาบันคัสเม่)                                  
ที่มาของกฎหมาย                                                             

ในที่สุดรัฐบาลคสช.ก็ได้ประกาศใช้บังคับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษี มรดก (Estate Tax) และ ภาษีทรัพย์สิน(Property Tax) ออกมา 2 ฉบับ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม2558 โดยให้เหตุผลในการจัดเก็บภาษีมรดก มีนัยยะว่า เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็น ธรรมในสังคม เนื่องจากการโอนทรัพย์สินโดยทางมรดกในปัจจุบันได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี ไม่ว่าทรัพย์สินที่ถ่ายโอนนั้นจะมีจำนวนมูลค่ามากน้อยเพียงใด จึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัด เก็บภาษีจากการรับมรดก ที่มีมูลค่าจำนวนมากเพื่อนำไปพัฒนาประเทศและยกระดับการ ดำรงชีวิตของประชาชนผู้ยากไร้ให้ดีขึ้น และเหตุผลต่อเนื่องมาที่ต้องจัดเก็บภาษีจากการให้ ทรัพย์สินด้วยนั้น ก็เพื่อให้มีความสอดคล้องไปในทางเดียวกันกับภาษีการรับมรดก ให้การ บังคับใช้กฎหมายสามารถปฏิบัติได้จริง เพราะหากไม่มีการจัดเก็บภาษีจากการให้ควบคู่กัน ก็จะทำให้มีช่องว่าง (Loophole) ทางกฎหมาย ผู้ที่มีทรัพย์สินจำนวนมากก็จะมีการเลี่ยงภาษี โดยมีการโอนให้ทายาท หรือบุคคลอื่นไปก่อน โดยที่ไม่ต้องเสียภาษีในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่  ซึ่งดีกว่าการเก็บรักษาทรัพย์สินไว้รอโอนให้เป็นมรดก ภายหลังการเสียชีวิต  ที่จะต้องเสียภาษี การรับมรดก ตามกฎหมายที่บัญญัติออกมาใหม่นี้  ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเหตุผล ที่ผู้ร่างกฎหมาย จำเป็นต้องบัญญัติกฎหมาย 2 ฉบับนี้มาใช้บังคับควบคู่กัน

รู้ทัน 3 ภาษีมรดก เล่มนี้ จะขอเว้นการวิเคราะห์หรือวิจารณ์ว่า การออกกฎหมายครั้งนี้ จะลดความเหลื่อมล้ำ กล่าวคือ ลดช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย และสร้างความเป็นธรรม ได้จริงตามคำปรารภของกฎหมายหรือไม่ เม็ดเงินภาษีที่จะจัดเก็บได้นั้นจะคุ้มค่ากับต้นทุนและ ค่าใช้จ่าย ที่กรมสรรพากรต้องจ่ายในการจัดเก็บไหม หรือผลที่ได้จากการออกกฎหมายจะเป็น เพียงแค่สัญลักษณ์ ว่าได้ลดความเหลื่อมล้ำเพียงเท่านั้น แต่หนังสือนี้มุ่งหมายให้ผู้อ่านได้ ทราบและเข้าใจพอสังเขป เกี่ยวกับประเภทของภาษีทรัพย์สินและภาษีมรดกที่ใช้จัดเก็บ ในประเทศไทย ให้รู้หลักการจัดเก็บภาษี รู้ว่าใครเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี รู้จักฐานภาษี การได้รับ ยกเว้นภาษี และอัตราภาษี ที่ใช้จัดเก็บนั้นเป็นอย่างไร  เพื่อประโยชน์เบื้องต้นในการวาง แผนว่าถ้ามีกรณีที่จะต้องเสียภาษีควรจะเสียภาษีทั้ง 3 ประเภทเหล่านี้อย่างไร จึงจะถูกต้อง ถูกกฎหมาย และประหยัดภาษีด้วย

รู้จักกับ 3  ภาษีมรดก

กล่าวโดยภาพรวม ภาษีมรดก ที่ออกมาใหม่ทั้งสองฉบับดังกล่าว ที่เรียกว่า ภาษีการให้ ถือเป็นภาษีตัวหนึ่งของภาษีทรัพย์สิน (Property Tax) ส่วนภาษีการรับมรดกก็ถือเป็นภาษี หนึ่งของภาษีมรดก(Estate Tax) ในทางวิชาการภาษีอากรเรียกชื่อกฎหมายภาษีทั้งสอง ฉบับ นี้ว่าภาษีการให้ (Gift Tax) และ ภาษีการรับมรดก (Inheritance Tax) (ทั้งนี้ยังไม่นับรวมถึง ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นภาษีทรัพย์สินอีกตัวหนึ่ง  ที่มีทีท่าว่ากำลังจะออกมาใหม่อีก ฉบับเพื่อใช้แทนภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างที่เก่าและล้าสมัย)  ส่วนภาษีมรดก อีกประเภท หนึ่งที่กรมสรรพากรมีการจัดเก็บอยู่แล้วแต่เดิม  แต่เชื่อว่ายังมีคนจำนวนมากที่ยังไม่ทราบ ไม่รู้จัก คือ ภาษีกองมรดก (Estate Tax) รวมแล้ว เมื่อถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2559  (ครบ 180 วัน นับแต่วันประกาศใช้กฎหมาย ) ถ้าไม่มีเหตุจำเป็นที่ทำให้ต้องมีการขยายเวลาหรือ เลื่อน การบังคับใช้กฎหมายออกไป กรมสรรพากร จะต้องมีหน้าที่จัดเก็บภาษีในกลุ่มภาษีมรดก นี้ รวม 3 ประเภทภาษีอากร  จึงขอนำผู้อ่านมาทำความรู้จัก และ รู้ทัน กับ 3ภาษีมรดก ดังนี้

1. ภาษีการให้ (Gift Tax) เป็นภาษีที่บัญญัติออกใหม่  มีการใช้บังคับจัดเก็บโดยการ ออกพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรฉบับที่40  พ.ศ. 2558  เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2558

2. ภาษีการรับมรดก ( Inheritance Tax) เป็นภาษีที่ร่างขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับ ใช้บังคับจัดเก็บโดย มีการตรากฎหมายใหม่ ออกมาเลยในวันเดียวกันกับภาษีการให้ เรียกชื่อกฎหมายนี้ว่าพระราช บัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558

3. ภาษีกองมรดก (Estate  Tax) ภาษีเก่าที่กรมสรรพากรมีการจัดเก็บอยู่แต่เดิม บังคับจัดเก็บ จากกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง ตามกฎหมายภาษีสรรพากร ที่เรียกว่าประมวลรัษฎากร

- โปรดติดตามตอนต่อไป -


บริษัท โปรซอฟท์การบัญชี จำกัด ขอสงวนลิขสิทธิ์ ห้ามตีพิมพ์ ดัดแปลง แก้ไข ทำซำ้บทความนี้ก่อนได้รับอนุญาติ
จาก บริษัท โปรซอฟท์การบัญชี จำกัด และ สถาบันคัสเม่

Visit Kasme Website: www.kasmethai.com


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น